Fine Art Burapha University

Posted by:

|

On:

|

ชื่อปริญญา ชื่อภาษาไทย : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การบริหารศิลปะและวัฒนธรรม) ปร.ด. (การบริหารศิลปะและวัฒนธรรม) ชื่อภาษาอังกฤษ :Doctor of Philosophy (Art and Cultural Administration) Ph.D. (Art and Cultural Administration) ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

บูรณาการความรู้ สหวิทยาการทางศาสตร์และศิลป์ด้วยคุณธรรมจริยธรรมอย่างลึกซึ้ง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมบนฐานความคิดแบบไทยและสากล อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเหตุและผล โดยมีแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่า และมูลค่าอย่างเหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคต”

 

ประเทศไทยมีทรัพยากรทางศิลปวัฒนธรรมทั้งที่เป็นมรดกจากอดีต และที่เป็นปัจจุบันอยู่เป็น จำนวนมาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหลายมาตราได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ การอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้า สถาบันการศึกษาแห่งนี้มีหลักสูตรที่เปิดสอน ที่เกี่ยวข้อง คือด้านทัศนศิลป์ และการออกแบบอยู่หลายหลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาดุษฎีบัณฑิต ซึ่งมี แนวโน้มจะพัฒนาหลักสูตรให้เข้มข้นลุ่มลึกเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยี และบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เพื่อรองรับความเจริญเติบโตและการพัฒนาทางวิชาการในอนาคต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงพัฒนาและผลิตบุคลากรในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อความลุ่มลึก และกว้างขวางด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างครบวงจร

-วัตถุประสงค์-

             1.  หลักสูตรต้องการผลิตดุษฎีบัณฑิตด้านการบริหารศิลปะและวัฒนธรรมที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ วิจัยอย่างลุ่มลึก  เพื่อเข้าสู่การทำงานเป็นนักวิจัย อาจารย์ นักวิชาการวัฒนธรรม และนักพัฒนาระดับผู้นำในวิชาชีพ สาขาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน โดยร้อยละ 80 ของดุษฎีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะสามารถประกอบอาชีพในด้านดังกล่าวข้างต้น

             2.  เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ดุษฎีบัณฑิตจะมีสมรรถนะ ดังนี้ 

                 1)  มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาด้านศิลปะและวัฒนธรรม กับการท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม โดยแนวทางอนุรักษ์ และพัฒนา เพื่อการประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างถ่องแท้ 

                2)  สามารถประยุกต์ความรู้และประสบการณ์จากการวิเคราะห์ วิจัย ไปบริหารงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างบูรณาการ

                3)  สร้างความเข้าใจในสำนึกไทย และถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจได้อย่างเหมาะสม เพื่อรู้เท่าทันสถานการณ์  ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับประเทศสู่สังคมอาเซียน และสังคมโลกต่อไป

                 4)  มีคุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพ    

โดยแบ่งหลักสูตรเป็น 2 แผนคือ แผน ก. เป็นหลักสูตรที่รองรับผู้ที่สนใจศึกษาวิจัยด้านการจัดการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในระดับสูง โดยเน้นการวิจัย เพื่อผลิตนักบริหารด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นผู้นำทางด้านต่างๆ ดังนี้      1. การวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรม และการนำไปบริหารจัดการ      2. การพัฒนาวิชาชีพทางด้านศิลปวัฒนธรรมในหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง      3. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม แผน ข. เป็นหลักสูตรที่รองรับผู้ที่สนใจศึกษาวิจัยด้านการจัดการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในระดับสูง โดยเน้นการศึกษาที่หลากหลาย และเพื่อผลิตนักบริหารด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นผู้นำทางด้านต่างๆ ดังนี้      1. การค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายเพื่อนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้      2. การพัฒนาวิชาชีพในด้านศิลปวัฒนธรรมในหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชนและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

     3. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมในวงกว้าง

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

     ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามประกาศมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม

           แบบ 1.1  เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป หรือมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีกรรมการ ภายนอกร่วมกลั่นกรอง (Peer Review) เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น อย่างน้อย 2 บทความ ไม่เกิน 3 ปี ย้อนหลัง  ทั้งนี้ ต้องผ่านการประเมินของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม และมีผลสอบทักษะทางภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยกำหนด

       แบบ 2.1  เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง มีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป และมีผลสอบทักษะทางภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยกำหนด