การเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำวิจัยและโพลมีด้วยกันหลายวิธี ดังนั้น ผู้ทำวิจัยหรือโพลจึงต้องเลือกวิธีที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการตน รวมทั้งให้สอดคล้องกับประชากรกลุ่มเป้าหมาย และแนวการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย โดยส่วนหนึ่งของวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล มีดังนี้
ตัวเลือกการเก็บรวบรวมข้อมูล 7 วิธี
- ใช้แบบสอบถาม: แบบสอบถามที่จัดทำขึ้นควรใช้ระดับภาษาให้สอดคล้องกับประชากรกลุ่มเป้าหมาย และต้องตั้งคำถามให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือทำโพล ทั้งนี้ หลังจัดทำแบบสอบถามแล้วเสร็จ ควรนำไปทดลองสอบถามประชากรกลุ่มเป้าหมายดูว่าได้คำตอบตรงตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามความคาดหวังก็ควรนำมาปรับปรุงใหม่เพื่อให้ได้คำตอบตรงตามที่ต้องการมากที่สุด
- สัมภาษณ์โดยไม่ใช้แบบสอบถาม: เป็นวิธีการเดินทางไปพบปะและสัมภาษณ์ประชากรกลุ่มเป้าหมาย
- สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์: เป็นหนึ่งวิธีที่สะดวก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
- การสนทนากลุ่ม: เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้เข้าร่วมสนทนาและผู้ทำวิจัยหรือโพลมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ช่วยให้ผู้ทำวิจัยหรือโพลได้ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็น ทัศนคติ และความเชื่อของประชากรกลุ่มเป้าหมาย
- การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์: เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สะดวก แต่มีความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับแบบสอบถามส่งกลับครบถ้วน
- สำรวจทางอินเตอร์เน็ต: เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
- การสังเกต: เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลที่ต้องการศึกษาโดยไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว หากเป็นการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ก็คือการไปพิสูจน์เก็บข้อมูลในสถานที่จริง
กรรมวิธีจัดการข้อมูล
ภารกิจที่ผู้ทำวิจัยหรือโพลต้องทำหลังการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การจัดระเบียบข้อมูลให้สามารถวิเคราะห์หาคำตอบได้ตามวัตถุประสงค์ โดยขั้นตอนในการจัดการข้อมูลเริ่มจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ตามด้วยการลงรหัส กำหนดค่าของข้อมูลเพื่อแปลงเป็นตัวเลขสำหรับป้อนเข้าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผล
การประมวลผลข้อมูล
เป็นขั้นตอนการใช้สถิติกับข้อมูล ซึ่งมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
- สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) โดยสถิติที่นิยมใช้กันประกอบด้วยค่าร้อยละ ค่าความถี่ และค่าเฉลี่ย
- สถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) โดยสถิติที่นิยมใช้กันประกอบด้วยค่า Chi-Square และค่า Correlation